วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สมุนไพรแก้ไอ


ไอเป็นการเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศ ทุกวัย การไอจะช่วยขับสิ่งแปลกปลอมที่มากระตุ้นทางเดินหายใจ เช่น ควัน ฝุ่นละออง เสมหะ ออกจากทางเดินหายใจ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการไอชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น การไอติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเกิดจาหลายสาเหตุ เช่น หวัดจากการแพ้ หลอมลมอักเสบ ไอกรน วัณโรค การรักษาจึงต้องรักษาสาเหตุของการไออื่นๆควบคู่ไปด้วย เช่น ต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้หรือรับประทานยาแก้แพ้หรืออาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะร่วมด้วย นอกจากนี้ยาแก้ไอที่ใช้ต้องเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะอาการไอด้วย หากไอแห้งๆต้องใช้ยากดอาการไอ แต่ถ้าไอมีเสมหะควรใช้ยาแก้ไอละลายเสมหะ นอกจากนี้ผู้ป่วยควรต้องพักผ่อนมากๆ งดบุหรี่ อาหารทอด น้ำเย็น และพยายามดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ หากอาการไม่ดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ ร่วมกับน้ำหนักลด หรือมีอาการรุนแรงขึ้นควรปรึกษาแพทย์
ยารักษาอาการไอ?ไม่ว่าจะเป็นยาแผนตะวันตกหรือสมุนไพรไทยต้องแยกเป็น 2 ชนิดเช่นกัน
1.สมุนไพรที่ใช้แก้ไอแห้ง?สมุนไพรกลุ่มนี้จะมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์กดศูนย์การไอในสมองทำให้หยุดไอ สมุนไพรในกลุ่มนี้ที่สำคัญคือ ฝิ่น แต่เนื่องจากฝิ่นเป็นพืชที่มีสารเสพติดและไม่อนุญาตให้มีการปลูก การใช้เป็นยามักอยู่ในรูปสารสกัด
2.สมุนไพรที่ใช้แก้ไอขับเสมหะ?สมุนไพรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์กระตุ้นต่อมในทางเดินหายใจให้หลั่งน้ำออกมามากขึ้น ทำให้เสมหะที่ข้นเหนียวอ่อนตัวลง และถูกขับออกจากทางเดินหายใจด้วยการไอ สมุนไพรกลุ่มนี้แบ่งได้ เป็น 3 กลุ่มย่อยตามชนิดของสารสำคัญดังนี้
2.1 กลุ่มที่มีสารสำคัญเป็นน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ เหง้าขิง หัวกระเทียม และผลดีปลี
2.2 กลุ่มที่มีสารสำคัญเป็นกรดซึ่งมีรสเปรี้ยว ได้แก่ มะขามเปียก น้ำมะนาว ผลมะขามป้อม และเนื้อสับประรด
2.3 กลุ่มสมุนไพรอื่นๆ เป็นกลุ่มที่พบใช้กันมากและได้ผลดี แต่สารที่ออกฤทธิ์ยังไม่ชัดเจน และมีคุณสมบัติต่างจากกลุ่มแรก ได้แก่ มะแว้งเครือ มะแว้งต้น และเพกา เป็นต้น
  • กระเทียม?ใช้กระเทียมและขิงสดอย่างละเท่ากัน ตำละเอียดละลายกับน้ำอ้อยสด คั้นน้ำจิบแก้ไอขับเสมหะและทำให้เสมหะแห้งหรือคั้นกระเทียมกับน้ำมะนาว เติมเกลือใช้จิบหรือกวาดคอก็ได้
  • ขิง?มีวิธีใช้ขิงเป็นยาแก้ไออยู่หลายวิธี อาจใช้ต้มกับน้ำพอเดือด ชงด้วยน้ำเดือด คั้นน้ำขิงโดยใช้กระสายยา คือ น้ำมะนาวก็ได้ ขนาดที่ใช้ตั้งแต่ 5-30 กรัม ทั้งนี้เนื่องจากขิงเป็นอาหารและไม่ปรากฎความเป็นพิษ ขนาดรับประทานจึงขึ้นกับความชอบของผู้ใช้ด้วย
  • ดีปลี?สำหรับการไอมีเสมหะ ควรใช้ดีปลีประมาณครึ่งผล ตำละเอียดเติมน้ำมะนาว และเกลือเล็กน้อย กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ
  • มะนาว?ใช้น้ำมะนาว 1 ถ้วยชา ผสมน้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ และเกลือเล็กน้อย ชงน้ำอุ่นดื่มบ่อยๆ หรือน้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะผสมน้ำผึ้ง 4 ช้อนโต๊ะ จิบแก้ไอ นอกจากนี้น้ำมะนาวยังใช้เป็นน้ำกระสายยาของสมุนไพรที่ใช้แก้ไออื่นๆ เช่น ดีปลี กระเทียม เป็นต้น
  • มะขาม?ใช้มะขามเปียก 3 กรัม จิ้มเกลือรับประทาน มะขามเปียกอาจมีเชื้อโรคและทำให้ท้องเสียได้ จึงควรนำมะขามเปียกมาต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลและเกลือเล็กน้อย จะได้ยาขับเสมหะที่มีรสกลมกล่อม
ข้อควรระวัง มะขามเปียกมีฤทธิ์เป็นยาระบายด้วย จึงไม่ควรรับประทานมากเกินไป
  • มะขามป้อม?ใช้ผลสด ตำคั้นน้ำดื่มหรือกัดเนื้อเคี้ยวอมบ่อยๆ
  • สับปะรด?เนื่องจากสับปะรดเป็นผลไม้ที่คนไทยรับประทานอยู่แล้วจึงไม่จำกัดขนาด แต่ถ้ารับประทานมาก กรดที่มีปริมาณสูงจะกัดเยื่อบุช่องปากได้
  • มะแว้งเครือ?ใช้ผลมะแว้งเครือสด 5-6 ผล ล้างให้สะอาดเคี้ยวอมไว้ กลืนเฉพาะน้ำจนหมดรสขมแล้วคายกากท้องเสีย หรือจะกลืนทั้งน้ำและเนื้อก็ได้ หรือใช้ผลสด 5-10 ผล โขลกพอแตกคั้นเอาแต่น้ำใส่เกลือเล็กน้อย จิบบ่อยๆเวลาไอ
  • มะแว้งต้น?ใช้ผลมะแว้งต้นสด 5-6 ผล ล้างให้สะอาดเคี้ยวอมไว้ กลืนเฉพาะน้ำจนหมดรสขมแล้วคายกากท้องเสีย หรือจะกลืนทั้งน้ำและเนื้อก็ได้ หรือใช้ผลสด 5-10 ผล โขลกพอแตกคั้นเอาแต่น้ำใส่เกลือเล็กน้อย จิบบ่อยๆเวลาไอ
  • เพกา?ใช้เมล็ดครั้งละ ครึ่งถึง 1 กำมือ (หนัก 1 1/2-3 กรัม) ใส่น้ำประมาณ 300 cc. ต้มไฟอ่อนพอเดือดประมาณ 1 ชั่วโมง รับประทานวันละ 3 ครั้งs

บทความที่ได้รับความนิยม

คลังบทความของบล็อก